WELCOME TO BLOG MOOK CLUB.

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การแต่งคำประพันธ์และบทร้อยกรอง

หลักการแต่งคำประพันธ์ประเภทต่าง ๆ
     คำประพันธ์หรือร้อยกรอง คือ การนำถ้อยคำมาเรียบเรียงให้เป็นระเบียบ ตามที่บัญญัติ
ไว้ในตำราว่าด้วยการแต่งโคลง ฉันท์ กลอน และร่าย ตำราดังกล่าวนี้ เรียกว่า “ฉันทลักษณ์”
     ภาษาไทยมีบทร้อยกรองหลายชนิดซึ่งมีรูปแบบและวิธีการประพันธ์แตกต่างกัน บทร้อยกรองมีความไพเราะและเป็นที่ชื่นชอบถูกต้องกับนิสัยของคนไทยมาแต่โบราณ
จนกล่าวกันว่า “นิสัยของคนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน”
     คำประพันธ์หรือบทร้อยกรองมีหลายประเภท แต่ละประเภทก็จะมีแบบฉบับการแต่ง เป็นลักษณะเฉพาะของคำประพันธ์นั้น ๆ จึงควรที่จะต้องรู้หลักการแต่งกันเสียก่อน

หลักการแต่งคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง
     การแต่งคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองให้ดีนั้น เป็นเรื่องที่สอนกันได้ยาก เนื่องจาก
คำประพันธ์มีความประณีต สุขุม ลึกซึ้ง แต่มีหลักเกณฑ์พอที่จะเสนอแนะในการแต่ง ดังนี้
     ๑. คำไทย การแต่งคำประพันธ์ที่ดีที่สุดก็คือ การแต่งให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องโดยแจ่มแจ้ง
กระจ่างชัด ในการบรรยายก็ดี ในการพรรณนาก็ดี ให้ใช้คำพูดง่าย ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ
ชัดเจน ไม่ควรใช้ศัพท์สูงที่อ่านเข้าใจยาก
     ๒. เสียง เสียงต้องใช้คำที่เหมาะต่อการดำเนินเรื่อง เช่น เศร้าโศก ควรใช้ลีลาของคำ
เชื่องช้า เรื่องตื่นเน้น ควรใช้ลีลา รวดเร็ว กระชับ การชมธรรมชาติควรใช้ถ้อยคำที่นุ่มนวล
อ่อนหวาน ยกตัวอย่าง เช่น

     ชมธรรมชาติ (กาพย์พระไชยสุริยา)


          ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดังเพียงฆ้องกลองระฆัง
     แตรสังข์กังสดาลขานเสียงพญาลอคล้อเคียง
          กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียงพญาลอคล้อเคียง
     แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง
          ฆ้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋งเพลินฟังวังเวง
     อีเก้งเริงร้องลองเชิง
          ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิงคางแข็งแรงเริง
     ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง
          ป่าสูงยูงยางช้างโขลง อึงคนึงผึงโผง
     โยงกันเล่นน้ำคล้ำไป

     ๓. การวางคำ การวางคำให้เหมาะสมถือว่าเป็นศิลปะในการประพันธ์ชั้นสูง การแต่ง คำประพันธ์จึงมีความจำเป็นต้องเลือกถ้อยคำที่มีความหมายและเหมาะสมจริง ๆ ยกตัวอย่างชูชกตวาดสองกุมารในเวสสันดรชาดกตอนหนึ่ง ดังนี้
     เฒ่าก็ดีดนิ้วมือดังทะถับทะถับ ร้องสำทับด้วยวาจา อเปหิ ฮ้าเฮ้ย เด็กน้อยถอยขยาย เสือร้ายจะเดินทางอย่าเข้ามาขวางจังหวะทำโว้เว้ เหม่ ออนี่หนักหน้าชี้ตาไม่กะพริบเลย
     ๔. การบรรยายภาพ การบรรยายภาพต้องบรรยายให้คล้อยตามอารมณ์ของบุคคล ภาพต้องเหมาะกับภูมิประเทศขนบธรรมเนียมประเพณี  ความเป็นอยู่ท้องถิ่น และภาษา ของท้องถิ่น
     ๕. ความแจ่มชัด ความแจ่มชัดเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งที่ทำให้คำประพันธ์ เป็นอมตะ ตัวอย่างเช่น บทชมนกของเจ้าฟ้ากุ้งในกาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท ว่า


          นกเหง้าหน้างามลาย
คือดาวรายพรายเพริศเพรา
     ย่อมกินถิ่นลำเนา
พาคู่เคล้าเฝ้าชมกัน
          นกขมิ้นเหลืองหลากหลาย
มีสะพายหมายสองคาง
     เหลืองอร่ามงามปีกหาง
เห็นสำอางช่างมีพรรณฯ

      ๖. ความเปรียบเทียบ ในการบรรยายเรื่องบางประเภทบางครั้งการบรรยายแบบ ตรงไปตรงมา ไม่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและเกิดความรู้สึกเร้าอารมณ์ได้  จะขอยกตัวอย่าง คำประพันธ์ของนายทองเจือ  สตะเวทิน  ที่เปรียบความโกรธเหมือนกับทะเลดังนี้

                              ความโกรธนั้นมันเหมือนทะเลบ้า
                         คลื่นซัดซ่าสาดโครมโหมถลา
                         ลมกระหน่ำซ้ำคลื่นครืนมา
                         เหมือนอุราพลุ่งโชติเพราะโกรธกัน

     จากหลักการแต่งคำประพันธ์ข้างต้น คงทำให้ผู้เขียนพอมองเห็นแนวทางการแต่งคำ
ประพันธ์อย่างกว้าง ๆ และการที่คำประพันธ์แต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะของตนเอง จึงควรรู้หลักการแต่งคำประพันธ์และลักษณะฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ประเภทนั้น ๆ ซึ่งในที่นี้จะเสนอให้เห็นเฉพาะที่ควรได้รู้ในระดับเบื้องต้นถึงการแต่งกาพย์ กลอน และโคลง
สี่สุภาพ

การแต่งกาพย์
     คำประพันธ์ร้อยกรองประเภทกาพย์ มีหลายแบบเรียกชื่อต่าง ๆ กันไป ตามลักษณะ คำประพันธ์ที่แตกต่างกัน เช่น กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ กาพย์ขับไม้ เป็นต้น กาพย์นั้นสันนิษฐานว่าเอาแบบมาจากฉันท์ เพียงตัดคำครุ คำลหุออกไปเท่านั้น
     ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะกาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ เป็นกาพย์ที่นิยมแต่งกันโดยทั่วไป

กาพย์ยานี ๑๑

แผนผัง


ตัวอย่าง

          ยานีมีลำนำ สัมผัสคำสัมผัสใจ
     วรรคหน้าห้าคำใช้ วรรคหลังนี้มีหกคำฯ

ลักษณะคำประพันธ์
๑. บท บทหนึ่งมี ๔ วรรค


     วรรคที่หนึ่งเรียกวรรคสดับ วรรคที่สองเรียกวรรครับ
     วรรคที่สามเรียกวรรครอง วรรคที่สี่เรียกวรรคส่ง

แบ่งเป็นวรรคแรก ๕ คำ วรรคหลัง ๖ คำ รวม ๑๑ คำ จึงเรียก ยานี ๑๑
๒. สัมผัส
     ก. สัมผัสนอก หรือสัมผัสระหว่างวรรค อันเป็นสัมผัสบังคับ มีดังนี้
     คำสุดท้ายของวรรคแรกวรรคที่หนึ่ง (วรรคสดับ)   สัมผัสกับคำที่สามของวรรคหลัง วรรคที่สอง (วรรครับ)
     คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม (วรรครอง)
(ดูแผนผังและยกตัวอย่าง)
     ถ้าจะแต่งบทต่อไปต้องมีสัมผัสระหว่างบท
     สัมผัสระหว่างบท ของกาพย์ยานี คือ
     คำสุดท้ายของวรรคสี่ (วรรคส่ง) เป็นคำส่งสัมผัสบังคับให้บทต่อไปต้องรับสัมผัสที่คำ
สุดท้ายของวรรคสอง (วรรครับ) ดังตัวอย่าง  


          ยานีมีลำนำ สัมผัสคำสัมผัสใจ
     วรรคหน้าห้าคำใช้วรรคหลังนี้มีหกคำ
     หนึ่งบทมีสี่วรรค พึงประจักษ์เป็นหลักจำ
     จังหวะและลำนำ กาพย์ยานีดังนี้เทอญฯ

       คำสุดท้ายของบทต้น คือคำว่า “คำ” ส่งสัมผัสไปยังบทถัดไป บังคับให้รับสัมผัส ที่คำสุดท้ายของวรรคสองหรือวรรครับ ในที่นี้คือคำว่า “จำ”
     ข.   สัมผัสใน แต่ละวรรคของกาพย์ยานีจะแบ่งช่วงจังหวะเป็นดังนี้
          วรรคแรก เป็น สองคำกับสามคำ คือ หนึ่งสอง – หนึ่งสองสาม
          วรรคหลัง เป็น สามคำกับสามคำ คือ หนึ่งสองสาม – หนึ่งสองสาม
     ฉะนั้นสัมผัสในจึงกำหนดได้ตามช่วงจังหวะของแต่ละวรรคนั้นเอง ดังตัวอย่าง
     ยานี – มีลำนำ           สัมผัส คำ – สัมผัสใจ

ข้อสังเกต
     กาพย์ยานีไม่เคร่งสัมผัสใน จะมีหรือไม่มีก็ได้ ขอเพียงใช้คำที่อ่านแล้วราบรื่น ตามช่วงจังหวะของแต่ละวรรคนั้น ๆ เท่านั้น ส่วนสัมผัสนอกระหว่างวรรคที่สาม (วรรคสอง) กับวรรคที่สี่ (วรรคส่ง) นั้นจะมีหรือไม่มีก็ได้ไม่บังคับเช่นกัน

กาพย์ฉบัง ๑๖
แผนผัง

ตัวอย่าง

          กาพย์นี้มีนามฉบัง สามวรรคระวัง
     จังหวะจะโคนโยนคำฯ

ลักษณะคำประพันธ์
     ๑.   บท บทหนึ่งมี ๓ วรรค อาจเรียกว่าวรรคสดับ วรรครับ วรรคส่ง ก็ได้ แบ่งเป็น
               วรรคแรก (วรรคสดับ) มี ๖ คำ       วรรคที่สอง (วรรครับ) มี ๔ คำ
               วรรคที่ ๓ (วรรคส่ง) มี ๖ คำ
          รวมทั้งหมด ๑๖ คำ จึงเรียกฉบัง ๑๖
     ๒. สัมผัส
          ก.   สัมผัสนอก หรือสัมผัสระหว่างวรรค อันเป็นสัมผัสบังคับ มีดังนี้
               คำสุดท้ายของวรรคหนึ่ง (วรรคสดับ) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคสอง
               (วรรครับ)
               สัมผัสระหว่างบท ของกาพย์ฉบัง คือ
               คำสุดท้ายของวรรคสาม (วรรคส่ง) เป็นคำส่งสัมผัส บังคับให้บทต่อไปต้องรับ สัมผัสที่คำสุดท้ายของวรรคหนึ่ง (วรรคสดับ) ดังตัวอย่าง


          กาพย์นี้มีนามฉบัง   สามวรรคระวัง
     จังหวะจะโคนโยนคำ
          สัมผัสจัดบทลำนำกำหนดจดจำ
     หกคำสี่คำดังนี้ฯ

     คำสุดท้ายของบทต้น คือคำว่า “คำ” ส่งสัมผัสไปยังบทถัดไป บังคับให้รีบสัมผัสที่คำ
สุดท้ายของวรรคที่หนึ่ง (วรรคสดับ) ในที่นี้คือคำว่า “นำ”
     ข. สัมผัสใน แต่ละวรรคของกาพย์ฉบัง แบ่งช่วงจังหวะเป็นวรรคละสองคำ ดังนี้
               หนึ่งสอง – หนึ่งสอง – หนึ่งสอง           หนึ่งสอง – หนึ่งสอง
               หนึ่งสอง – หนึ่งสอง – หนึ่งสอง
               ฉะนั้นสัมผัสในจึงกำหนดได้ตามช่วงจังหวะของแต่ละวรรคนั้นเอง ดังตัวอย่าง
               กาพย์นี้ – มีนาม – ฉบัง                 สามวรรค – ระวัง
               จังหวะ – จะ โคน – โยนคำ
ข้อสังเกต
     กาพย์ฉบังไม่เคร่งสัมผัสใน จะมีหรือไม่มีก็ได้ ขอเพียงใช้คำที่อ่านแล้วราบรื่น ตามช่วงจังหวะของแต่ละวรรคนั้น ๆ เท่านั้น
     ส่วนสัมผัสนอก ระหว่างวรรคที่สอง (วรรครับ) กับวรรคที่สาม (วรรคส่ง) นั้น จะมีหรือไม่มี
ก็ได้ไม่บังคับเช่นกัน

กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
แผนผัง


ตัวอย่าง

สุรางคนางค์
          เจ็ดวรรคจัดวางวรรคหนึ่งสี่คำ
          สัมผัสชัดเจนเป็นบทลำนำ
          กำหนดจดจำรู้ร่ำรู้เรียนฯ

ลักษณะคำประพันธ์
     ๑. บท บทหนึ่งมี ๗ วรรคขึ้นต้นด้วยวรรครับ ต่อด้วยวรรครอง และวรรคส่ง แล้วขึ้นต้น ด้วยวรรคสดับ – รับ – รอง – ส่ง ตามลำดับ รวม ๗ วรรค เป็น ๑ บท
     แต่ละวรรคมี ๔ คำ ๑ บทมี ๗ วรรค รวม ๒๘ คำ จึงเรียกว่า  กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
     ๒. สัมผัส
          ก.   สัมผัสนอก หรือสัมผัสระหว่างวรรค อันเป็นสัมผัสบังคับ มีดังนี้
               คำสุดท้ายของวรรคต้น (วรรครับ) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคถัดไป คือวรรครอง
               คำสุดท้ายของวรรคที่สามคือวรรคส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ห้า
               (วรรครับ)
               คำสุดท้ายของวรรคที่สี่ (วรรคสดับ) สัมผัสกับคำที่หนึ่งหรือสองของวรรคที่ห้า
               (วรรครับ)
               และคำสุดท้ายของวรรคที่ห้า (วรรครับ) ส่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่หก
               (วรรครอง)
               สัมผัสระหว่างบท ของกาพย์สุรางคนางค์ คือ
               คำสุดท้ายของวรรคที่ ๗ (วรรคส่ง) เป็นคำส่งสัมผัสบังคับให้บทต่อไป ต้องรับสัมผัสที่คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ (วรรคส่ง)

ดังตัวอย่าง


สุรางคนางค์
     เจ็ดวรรคจัดวาง วรรคหนึ่งสี่คำ
     สัมผัสชัดเจน เป็นบทลำนำ
     กำหนดจดจำรู้ร่ำรู้เรียน
รู้คิดรู้อ่าน
     รู้ประสบการณ์ รู้งานอ่านเขียน
     รู้ทุกข์รู้ยาก รู้พากรู้เพียร
     ประดุจดวงเทียน ประดับปัญญาฯ

     คำสุดท้ายของบทต้นคือคำว่า “เรียน” เป็นคำสัมผัสบังคับให้บทถัดไปต้องรับสัมผัส ที่วรรคสามด้วยคำว่า “เขียน” ตามตัวอย่าง
          ข. สัมผัสใน แต่ละวรรคของกาพย์สุรางคนางค์ แบ่งช่วงจังหวะเป็นวรรคละสองคำ ดังนี้
                                           หนึ่งสอง – หนึ่งสอง
             หนึ่งสอง – หนึ่งสอง           หนึ่งสอง – หนึ่งสอง ฯลฯ
     ฉะนั้นสัมผัสในจึงกำหนดได้ตามช่วงจังหวะของแต่ละวรรคนั้นเอง ดังตัวอย่าง


สุรางคนางค์
          เจ็ดวรรคจัดวาง วรรคหนึ่งสี่คำ
          สัมผัส - ชัดเจน เป็นบท - ลำนำ
          กำหนด - จดจำ รู้ร่ำ - รู้เรียนฯ

ข้อสังเกต
     กาพย์สุรางคนางค์ไม่เคร่งสัมผัสใน จะมีหรือไม่มีก็ได้ ขอเพียงใช้คำที่อ่านแล้วราบรื่น
ตามช่วงจังหวะของแต่ละวรรคนั้น ๆ เท่านั้น
     ส่วนสัมผัสนอกระหว่างวรรคที่สองกับที่สามและวรรคที่หกกับวรรคที่เจ็ด จะมีหรือไม่มี
ก็ได้ไม่บังคับเช่นกัน

การแต่งกลอน
     คำประพันธ์ร้อยกรองประเภทกลอน มีหลายแบบเรียกชื่อต่าง ๆ กันไป ตามลักษณะ
ฉันทลักษณ์ที่แตกต่างกันนั้น ๆ เช่น กลอนสี่ กลอนหก กลอนแปด และยังจำแนกออกไปตาม
ลีลาที่นำไปใช้ เช่น กลอนเพลงยาว กลอนบทละคร กลอนเสภา รวมถึงกลอนบทต่าง ๆ อีกด้วย
     ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะกลอนหกและกลอนแปด อันเป็นกลอนที่นิยมแต่งกันโดยทั่วไป

กลอนหก
แผนผัง


ตัวอย่าง

          กลอนหกหกคำร่ำรู้ วางคู่วางคำน้ำเสียง
          ไพเราะเรื่อยร่ำจำเรียงสำเนียงสูงต่ำคำกลอนฯ

ลักษณะคำประพันธ์
     ๑.  บท บทหนึ่งมี ๔ วรรค
          วรรคที่หนึ่งเรียกวรรคสดับ           วรรคที่สองเรียกวรรครับ
          วรรคที่สามเรียกวรรครอง            วรรคที่สี่เรียกวรรคส่ง
          แต่ละวรรคมี ๖ คำ จึงเรียกว่า กลอนหก
     ๒. เสียงคำ กลอนทุกประเภทจะกำหนดเสียงคำท้ายวรรคเป็นสำคัญ กำหนดได้ ดังนี้


          คำท้ายวรรคสดับ กำหนดให้ใช้ได้ทุกเสียง
          คำท้ายวรรครับกำหนดห้ามใช้เสียงสามัญกับตรี
          คำท้ายวรรครองกำหนดให้ใช้เฉพาะเสียงสามัญกับตรี
          คำท้ายวรรคส่ง กำหนดให้ใช้เฉพาะเสียงสามัญกับตรี

     ๓.  สัมผัส
          ก. สัมผัสนอก หรือสัมผัสระหว่างวรรค อันเป็นสัมผัสบังคับ มีดังนี้
          คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่ง (วรรคสดับ) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม (วรรครับ)
          คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม (วรรครอง)
          และคำที่สองหรือที่สี่ของวรรคที่สี่ (วรรคส่ง)
         สัมผัสระหว่างบท ของกลอนทุกประเภท คือ
          คำสุดท้ายของวรรคที่สี่ (วรรคส่ง) เป็นคำส่งสัมผัสบังคับให้บทต่อไปต้องรับสัมผัส
ที่คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ)

ตัวอย่าง


          กลอนหกหกคำร่ำรู้
วางคู่วางคำน้ำเสียง
     ไพเราะเรื่อยร่ำจำเรียง ๆ
สำเนียงสูงต่ำคำกลอน
     เรียงร้อยถ้อยคำสัมผัส
จำรัสจำหลักอักษร
     ทุกวรรคทุกบททุกตอน
คือถ้อยสุนทรกลอนกานท์ ฯ

     คำสุดท้ายของบทต้นคือคำว่า “กลอน” เป็นคำส่งสัมผัส บังคับให้บทถัดไปต้องรับสัมผัส ที่คำสุดท้ายของวรรคสองด้วยคำว่า “-ษร” ตามตัวอย่างนั้น
     ข.   สัมผัสใน แต่ละวรรคของกลอนหก แบ่งช่วงจังหวะเป็นวรรคละสองคำดังนี้
          หนึ่งสอง – หนึ่งสอง – หนึ่งสอง
     ฉะนั้นสัมผัสในจึงกำหนดได้ตามช่วงจังหวะในแต่ละวรรคนั่นเอง ดังตัวอย่าง
          เรียงร้อย – ถ้อย คำ – สัมผัส

ข้อสังเกต
     กลอนหกไม่เคร่งสัมผัสในวรรคมากนัก อาจย้ายที่สัมผัสจากคำที่สองไปคำที่สี่ได้ หรือ
จะไม่มีสัมผัสสระเลย ใช้การเล่นคำตามช่วงจังหวะก็ได้ดังกลอนตัวอย่าง เช่น
ทุกวรรค – ทุกบท – ทุกตอน

กลอนแปด
แผนผัง
 
                  



ตัวอย่าง

          อันกลอนแปดแปดคำประจำวรรควางเป็นหลักอักษรสุนทรศรี
     ส่งท้ายวรรคสูงต่ำจำจงดี สัมผัสมีนอกในไพเราะรู้ ฯ

ลักษณะคำประพันธ์

     ๑.  บท บทหนึ่งมี ๔ วรรค
          วรรคที่หนึ่งเรียกวรรคสดับ      วรรคที่สองเรียกวรรครับ
          วรรคที่สามเรียกวรรครอง       วรรคที่สี่เรียกวรรคส่ง
แต่ละวรรคมีแปดคำ จึงเรียกว่า กลอนแปด

     ๒.  เสียงคำ กลอนทุกประเภทจะกำหนดเสียงคำท้ายวรรคเป็นสำคัญ กำหนดได้ ดังนี้


          คำท้ายวรรคสดับ กำหนดให้ใช้ได้ทุกเสียง
          คำท้ายวรรครับ กำหนดห้ามใช้เสียงสามัญกับตรี
          คำท้ายวรรครอง กำหนดให้ใช้เฉพาะเสียงสามัญกับตรี
          คำท้ายวรรคส่งกำหนดให้ใช้เฉพาะเสียงสามัญกับตรี

     ๓. สัมผัส
          ก. สัมผัสนอก หรือสัมผัสระหว่างวรรค อันเป็นสัมผัสบังคับ มีดังนี้
               คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่ง (วรรคสดับ) สัมผัสกับคำที่สามหรือที่ห้า ของวรรคที่สอง (วรรครับ)
               คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม (วรรครอง) และคำที่สามหรือที่ห้าของวรรคที่สี่ (วรรคส่ง)

สัมผัสระหว่างบท ของกลอนแปด คือ
     คำสุดท้ายของวรรคที่สี่ (วรรคส่ง) เป็นคำส่งสัมผัสบังคับให้บทต่อไปต้องรับสัมผัส ที่คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ)

ตัวอย่าง


          อันกลอนแปดแปดคำประจำวรรควางเป็นหลักอักษรสุนทรศรี
     เสียงท้ายวรรคสูงต่ำจำจงดี สัมผัสมีนอกในไพเราะรู้
          จัดจังหวะจะโคนให้ยลแยบถือเป็นแบบอย่างกลอนสุนทรภู่
     อ่านเขียนคล่องท่องจำตามแบบครู ได้เชิดชูบูชาภาษาไทย ฯ

     คำสุดท้ายของบทต้นในที่นี้คือว่า “รู้” เป็นคำส่งสัมผัส บังคับให้บทถัดไปต้องรับสัมผัส
ที่คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ) ในที่นี้คือคำว่า “ภู่”
          ข.   สัมผัสใน แต่ละวรรคของกลอนแปด แบ่งช่วงจังหวะออกเป็นสามช่วง ดังนี้
                    หนึ่งสองสาม – หนึ่งสอง – หนึ่งสองสาม
               ฉะนั้นสัมผัสในจึงกำหนดได้ตามช่วงจังหวะในแต่ละวรรคนั่นเอง ดังตัวอย่าง
                    อันกลอนแปด – แปด คำ – ประจำวรรค
                    วางเป็นหลัก – อัก ษร – สุนทรศรี

ข้อสังเกต
     กลอนทุกประเภทบังคับเสียงคำท้ายวรรคเป็นสำคัญ สัมผัสนอกระหว่างวรรค เฉพาะวรรค
ที่สอง (วรรครับ) และวรรคที่สี่ (วรรคส่ง) นั้น จะรับสัมผัสที่คำที่สามหรือคำที่ห้าย่อมได้เสมอ
     ส่วนสัมผัสในนั้นจะใช้สัมผัสสระหรืออักษรก็ได้ และสัมผัสสระจะใช้สระเสียงสั้นสัมผัสกับ
สระเสียงยาวก็ได้ เช่น
     “อ่านเขียนคล่องท่องจำตามแบบครู”

การแต่งโคลงสี่สุภาพ
     คำประพันธ์ร้อยกรองประเภทโคลงมีหลายแบบเรียกชื่อต่าง ๆ กันไปตามแบบฉันทลักษณ์ ที่แตกต่างกันแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ได้แก่ โครงดั้น และโคลงสุภาพ
     ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะโคลงสี่สุภาพอันเป็นโคลงหลักที่นิยมแต่งกันอย่างแพร่หลายทั่วไป

แผนผัง
                 
ตัวอย่าง


          เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใด พี่เอย
     เสียงย่อมยอยศใคร ทั่ว หล้า
     สองเขือพี่หลับไหลลืมตื่น ฤาพี่
     สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ

                                                                             (ลิลิตพระลอ)
ลักษณะคำประพันธ์
     ๑. บท บทหนึ่งมี ๔ บาท (หนึ่งบรรทัดคือหนึ่งบาท) แต่ละบาทแยกเป็น ๒ วรรค เรียก
วรรคหน้ากับวรรคหลัง แบ่งเป็นวรรคหน้า ๕ คำ วรรคหลัง ๒ คำ เฉพาะบาทที่ ๔ หรือบาท
สุดท้ายกำหนดให้วรรคหลังมี ๔ คำ
     ๒. คำสร้อย เฉพาะบาท ๑ กับบาท ๓ อนุญาตให้มีคำเพิ่มต่อท้ายวรรคหลังได้ อีกบาท
ละ ๒ คำ เรียก คำสร้อย หรือสร้อยคำ นิยมให้ลงท้ายด้วยคำดังนี้ เฮย แฮ ฮา รา ฤา นา นอ พ่อ แม่ พี่ เอย ฯลฯ
     ๓. เอก – โท คือ คำกำหนดบังคับเสียง อันเป็นลักษณะพิเศษของโคลง
          คำเอก คือ คำที่กำกับด้วยรูปวรรคยุกต์เอก เช่น แก่ ค่า ใส เฉพาะคำเอกนี้ในโคลง
อนุญาตให้ใช้คำตายแทนได้ คำตาย คือ คำที่สะกดในแม่ กก กด กบ เช่น ปิด ฉาก นัด พบ
สวัสดิ์ ศิริ
          คำโท คือ คำที่กำกับด้วยรูปวรรณยุกต์โท เช่น ร้อง ไห้ ไม้ ล้ม ต้ม ข้าว
          โคลงสี่สุภาพ กำหนดบังคับให้แต่ละบทต้องใช้คำเอก-โท (ดูแผนผัง)
     ๔. สัมผัส
          ก. สัมผัสนอก หรือสัมผัสระหว่างบท อันเป็นสัมผัสบังคับ คำสุดท้ายของบาทหนึ่ง
คือ คำที่ ๗ ส่งสัมผัสไปรับสัมผัสกับคำที่ ๕ ของบาทสองกับบาทสาม (ดูแผนผัง) คำสุดท้าย
ของบาทสอง คือ คำที่ ๗ ส่งสัมผัสไปรับกับคำที่ ๕ ของบาทสี่ (ซึ่งตกในที่บังคับคำโทจึงต้อง
ส่ง-รับด้วยคำโททั้งคู่)
          ข. สัมผัสระหว่างบท โคลงสี่สุภาพไม่เคร่งสัมผัสระหว่างบท จะมีหรือไม่มีก็ได้ หากจะมีกำหนดให้คำสุดท้ายของบทคือคำที่ ๗ ของบาทสี่ ส่ง-รับสัมผัสไปยังคำที่ ๑ หรือ ๒
หรือ ๓ ของบาทหนึ่งในบทถัดไป

ดังตัวอย่าง
                        

     คำท้ายของบทต้นคือ คำว่า “โคลง” รับสัมผัสบทถัดไปในคำที่ ๑ ของบาทหนึ่งด้วยคำว่า
“โยง” เป็นสัมผัสเชื่อมบท
     ในโคลงบทที่สองนี้ คำว่า “วรรคเฮย” ของบาทหนึ่งกับคำว่า “ฉะนี้นา” ของบาทสามคือ
คำสร้อย ที่อนุญาตให้เพิ่มเข้ามาได้เฉพาะสองบาทนี้เท่านั้น

ข้อสังเกต
     โคลงทุกประเภทไม่เคร่งสัมผัสในจะมีหรือไม่มีก็ได้ หากจะมีสัมผัสใน กำหนดให้คำที่ ๒
กับคำที่ ๓ หรือที่ ๔ ของทุกวรรคสัมผัสกันได้ ดังตัวอย่าง
     “กำหนดบทบาทไป”
และระหว่างวรรคแรกกับวรรคหลัง หากเล่นสัมผัสอักษรจะทำให้โคลงไพเราะขึ้น ดังตัวอย่าง
     “กำหนดบทบาทไป เป็นแบบ ฉะนี้นา”


สรุป
     คำประพันธ์ หรือร้อยกรอง คือ การนำถ้อยคำมาเรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามที่บัญญัติ ไว้ในตำราฉันทลักษณ์ อันเป็นตำราที่ว่าด้วยการแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย ซึ่งแต่ละชนิดมีรูปแบบและวิธีการประพันธ์ที่แตกต่างกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น