WELCOME TO BLOG MOOK CLUB.

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ความสำคัญของการเรียนวรรณคดีไทย

กำเนิดวรรณคคี
          วิทย์  ศิวศริยานนท์  กล่าวว่า  วรรณคดีเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสันดานของมนุษย์ตลอดเวลา  เช่นเดียวกับศิลปะอื่น ๆ มนุษย์มีศิลปะทุกยุคทุกสมัย  และศิลปะไม่ใช่การเล่นฆ่าเวลา  วรรณคดีเกิดขึ้นได้เสมอในสภาวการณ์ต่าง ๆ และอาจจะมีมูลเหตุมาจากอารมณ์เพศ  ศาสนา  การเล่น  หรืองานก็ได้  ขึ้นอยู่กับทัศนะของแต่ละบุคคล หรือแต่ละความเชื่อ
          พิชิต  อัคนิจ  กล่าวว่า  ตำนานกำเนิดวรรณดคีของชาติต่าง ๆ อาทิ ตำนานกรีก  ตำนานสันสกฤต  ตำนานจีน เป็นต้นเค้าของทฤษฎีการกำเนิดวรรณคดีในสมัยปัจจุบัน  เพราะมูลเหตุที่ทำให้เกิดวรรณคดีตามหลักวิชาการสมัยใหม่ที่นำมากล่าวไว้ต่อไปนี้  ก็ล้วนมีสาระอิงตำนานที่กล่าวไว้แล้วแทบทั้งสิ้น  คือ
๑.      เกิดจากการนับถือวีรชน  เช่น  เรื่องรามายณะ  มหาภารตะ  ลิลิตยวนพ่าย  ลิลิตตะเลงพ่าย  เป็นต้น
๒.      เกิดจากความเชื่อทางศาสนา  ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ  ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเป็นสิ่งบันดาลใจให้เกิดวรรณคดีได้  เช่น  เรื่องมหาชาติคำหลวง  ไตรภูมิพระร่วง  ปฐมสมโพธิกถา  และอื่น ๆ
๓.      เกิดจากอารมณ์  อารมณ์ที่เกิดเอง  ไม่คล้อยตามผู้อื่น  เช่น  อารมณ์รัก  โกรธ  โศก  เป็นมูลเหตุให้เกิดวรรณคดีไทย  เช่น  เรื่องมัทนะพาธา  กามนิต  อติรูป  และอื่น ๆ
๔.      เกิดจากความกลัวภัย  โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ
๕.      เกิดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม  การไปมาหาสู่ระหว่างสังคมต่าง ๆ ก็มีส่วนทำให้เกิดวรรณคดีด้วย  เช่น  นิราศลอนดอน  นิราศกวางตุ้ง  และอื่น ๆ

ความสำคัญของการเรียนประวัติวรรณคดี
            เนื่องจากวรรณคดีส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ผู้แต่งมีต่อสภาพและเหตุการณ์แวดล้อมในยุคสมัยของผู้แต่ง  เช่น มีความชื่นชมในวีรกรรม  ความสามารถหรือบุญบารมีของบุคคลสำคัญก็แต่งเรื่องประเภทสดุดี  ถ้ามีความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาก็แต่งเรื่องธรรมะและชาดก  ถึงแม้วรรณคดีที่เกิดจากความสะเทือนใจส่วนตัวของ  ผู้แต่งเอง  ผู้แต่งก็มักสร้างเนื้อหาและฉากของเรื่องขึ้นจากสิ่งที่ผู้แต่งประสบพบเห็นเป็นส่วนมาก  นอกจากรูปแบบ คำประพันธ์  ประเภท  และสาระสำคัญของเรื่องมักเป็นไปตามคตินิยมของสังคมในสมัยที่แต่ง เพราะฉะนั้นการอ่านวรรณคดีให้ได้คุณค่าที่แท้จริง  จำเป็นต้องเรียน   วรรณคดีในเชิงประวัติ หรือประวัติวรรณคดีประกอบด้วย  การเรียนประวัติวรรณคดี พิจารณาถึงประเด็นสำคัญของวรรณคดีในด้านต่าง ๆ ดังนี้
๑.      ผู้แต่ง  รวมถึงชีวประวัติและผลงาน
๒.      ที่มาของเรื่อง  ได้แก่  เรื่องที่เป็นต้นเค้า  อาจเป็นเรื่องหรือเหตุการณ์ภายในประเทศ หรือที่ได้รับ
อิทธิพลจากต่างประเทศ

๓.      ความมุ่งหมายในการแต่ง ได้แก่ แรงบันดาลใจหรือความมุ่งหมายของผู้แต่งในการแต่งวรรณคดีนั้น ๆ
๔.      วิวัฒนาการและความสัมพันธ์ต่อเนื่องระหว่างวรรณคดีแต่ละสมัย
๕.      สภาพสังคมในสมัยที่แต่ง  ซึ่งได้แก่  วัฒนธรรม  สภาพสังคม  และเหตุการณ์ของบ้านเมืองในระยะเวลาที่แต่ง
๖.      อิทธิพลที่วรรณคดีมีต่อสังคมทั้งในสมัยที่แต่งและในสมัยต่อมา
ดังนั้น  การศึกษาประวัติวรรณคดี  ทำให้ทราบที่มาของวรรณคดีแต่ละเรื่องว่าเกิดขึ้นอย่างไร  มีแรง
บันดาลใจอะไร  แต่งในสมัยใด  ใครเป็นผู้แต่ง  อิทธิพลของเหตุการณ์บ้านเมืองที่มีต่อวรรณคดี  และอิทธิพลของ  วรรณคดีที่มีต่อสังคมไทยในแต่ละยุคสมัย

ประโยชน์ของการเรียนประวัติวรรณคดี
            เนื่องจากการเรียนประวัติวรรณคดีมีลักษณะเป็นการเรียนรู้ที่มา  และสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปของวรรณคดี  การเรียนประวัติวรรณคดีจึงให้ประโยชน์หลายประการ  ดังนี้
๑.      ช่วยเพิ่มความเข้าใจและความซาบซึ้งในคุณค่าของวรรณคดี
๒.     ได้ความรู้เกี่ยวกับภาษาและลักษณะอักขรวิธีสมัยต่าง ๆ        
๓.      ได้ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศสมัยต่าง ๆ
๔.      ได้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม  สภาพสังคม และเหตุการณ์บ้านเมือง  ควบคู่กันไปกับวิวัฒนาการของวรรณคดีในสมัยต่าง ๆ









แหล่งข้อมูล :
            ประพันธ์  เรืองณรงค์และคณะ. กลุ่มสาระภาษาไทย ช่วงชั้นที่ ๔(ม. ๔-๖).  กรุงเทพมหานคร :
ประสานมิตร, ๒๕๔๖.
            พิชิต  อัคนิจ. วรรณกรรมไทยสมัยสุโขทัย – กรุงศรีอยุธยา. กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๖.
            ฐะปะนีย์  นาครทรรพและคณะ. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระภาษาไทย  ภาษาไทย
ม.๔ เล่ม ๑. กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๔๖.
เสนีย์  วิลาวรรณและคณะ. ประวัติวรรณคดี ๑. กรุงเทพมหานคร : วัฒนาพานิช, ๒๕๔๒.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น