WELCOME TO BLOG MOOK CLUB.

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประวัติอักษรไทย


<><><><><> <><><><><> <>
กำเนิดแบบอักษรไทย  
          ท่านผู้รู้นักประวัติศาสตร์หลายท่าน คาดกันว่า เริ่มจากแบบอักษรคฤนถ์ของอินเดียใต้ ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นอักษรขอม อักษรขอมนี้นำมาเขียนภาษาบาลี สันสกฤตได้สะดวก แต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเห็นว่าการนำมาเขียนเป็นภาษาไทยนั้นไม่สะดวก เพราะไม่มีวรรณยุกต์เป็นเครื่องหมายกำหนดเสียงสูงต่ำและมีสระน้อย ไม่เพียงพอจะเขียนภาษาไทยได้ตามต้องการ  พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริแก้ไขแบบอักษรเสียใหม่ให้เป็นลักษณะอักษรไทย (ซึ่งถ้าสังเกตถ้อยคำในศิลาจารึก จะเห็นคำว่า "นี้" อยู่ต่อคำว่า "ลายสือ" ทุกแห่ง คงจะมีความหมายว่าตัวอักษรแบบนี้ยังไม่เคยมี)   พระองค์ทรงแก้รูปตัวอักษรให้เขียนได้รวดเร็วกว่าอักษรขอม ทั้งสระและพยัญชนะก็จะเขียนอยู่ในบรรทัดเดียวกัน   
          แม้ว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะมิได้เป็นผู้ทรงประดิษฐ์รูปอักษรขึ้นโดยพระองค์เองก็ตาม (๑)  การที่พระองค์ทรงแก้ไขตัวอักษรเสียใหม่ในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น นับเป็นการสำคัญ เป็นการพัฒนาต่อยอดทางความคิด คือ การนำภูมิความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่เดิมในขณะนั้นมาพัฒนาให้เกิดความเหมาะสม ให้มีความสะดวกในการจารึกและอ่าน อีกทั้งเสียงที่ใช้นั้นก็มีความครบถ้วนตามลักษณะเสียงที่ใช้ในภาษาไทย  สิ่งนี้นับเป็นคุณประโยชน์อย่างมหาศาล เป็นวิวัฒนาการ อันทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางความรู้และวิทยาการในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง     แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะภาพในเชิงภาษาศาสตร์และความเป็นนักปราชญ์ของพระองค์     
          ครั้นล่วงรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว จะเป็นระยะเวลานานเท่าใดไม่ปรากฏแน่ชัด มีผู้แก้ไขกลับไปใช้คุณลักษณะบางอย่างตามแบบหนังสือขอม ซึ่งมีสระอยู่ข้างหน้าพยัญชนะบ้าง อยู่ข้างหลังพยัญชนะบ้าง อย่างเช่นใช้ในแบบหนังสือไทยมาจนทุกวันนี้ 
          ตัวอักษรไทยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดค้นขึ้นนี้ ได้มีผู้นำไปใช้กันแพร่หลายต่อไปในประเทศใกล้เคียงในสมัยนั้น  เช่น ในล้านช้าง ล้านนา และประเทศข้างฝ่ายใต้ของอาณาจักรสุโขทัย คือ กรุงศรีอยุธยา   
ลักษณะของตัวอักษรไทย  

สระ ๒๐ ตัว

วรรณยุกต์ ๒ รูป  ตัวเลข ๖ ตัว

พยัญชนะ ๓๙ ตัว
          ท่านผู้รู้บางท่านได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอีกนัยหนึ่งว่า จากการดูที่เหตุผลแวดล้อม พยัญชนะไทยน่าจะมีครบทั้ง ๔๔ ตัวตั้งแต่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว  ทางขอมได้ภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นครู มีพยัญชนะจำนวน ๓๓ ตัวเท่ากับภาษาบาลี  พ่อขุนรามคำแหงได้แบบอย่างจากขอมและอินเดีย ครั้งแรกนั้นคงเป็นพยัญชนะ ๓๔ ตัว (ตัดนิคหิต ออก ๑ ตัว แต่พระองค์ได้นำมาใช้แทนตัว ม อย่างสันสกฤตและขอม) ต่อมาพระองค์อาจจะทรงคิดค้นเพิ่มเติมอีก ๑๐ ตัว ที่เรียกว่า "พยัญชนะเติม" เพื่อให้เสียงพอใช้ในภาษาไทย  
          พยัญชนะเติม ๑๐ ตัวคือ ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ ฮ     จะเห็นว่าพยัญชนะเหล่านี้ได้เพิ่มเข้ามาจากพยัญชนะวรรคมีเสียงที่พ้องกัน เช่น 
                    ฃ พ้องเสียงกับ ข  
                    ฅ พ้องเสียงกับ ค   
          ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น ตัวอักษรนี้คงออกเสียงเป็นคนละหน่วยเสียงกัน  แต่ ฃ กับ ฅ คงจะออกเสียงได้ยากกว่า เราจึงรักษาเอาไว้ไม่ได้ มีอันต้องสูญไปอย่างน่าเสียดาย (๒)  เหตุผลคือ ถ้าเป็นหน่วยเสียงเดียวกัน พระองค์จะไม่ทรงคิดเสียงซ้ำกัน  เช่นนั้น ฃ กับ ข และ ฅ กับ ค จึงน่าจะเป็นคนละหน่วยเสียงกันเช่นเดียวกับภาษาบาลี สันสกฤต ที่ออกเสียงพยัญชนะวรรคตะ ต่างกับเสียงพยัญชนะวรรคฏะ  แต่เมื่อเรารับเข้ามาใช้ เราออกเสียงอย่างเขาไม่ได้ เราจึงออกเสียงเหมือนกัน เช่นเดียวกับ ตัว ส,ษ,ศ ก็เช่นเดียวกัน เขาออกเสียงต่างกันแต่เราออกเสียงเหมือนกันหมด  เสียงใดที่ออกยากย่อมสูญได้ง่าย    
สิ่งที่น่าเป็นห่วง
          ตามคำกล่าวข้างต้น เสียงที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน เช่น
  • เสียง "ร" เพราะออกเสียงได้ยากกว่าเสียง "ล" นักเรียนในปัจจุบันมักจะออกเสียง "ร" ไม่ค่อยได้เพราะต้องกระดกลิ้น  
  • เสียง "ท" ที่ปัจจุบันมีผู้นิยมออกเป็นเสียง "ธ" ตามอย่างนักร้องที่มักออกเสียง "ท" เป็นเสียง "ธ" 
          ปัจจุบันนี้ เราหาผู้เชี่ยวชาญในการออกเสียงให้มีความชัดเจนแตกต่างจากกัน เพื่อเป็นผู้สอนการออกเสียงให้แก่นักเรียนนักศึกษาได้ยาก  จึงเป็นที่น่าห่วงว่าหากเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์การออกเสียงเหล่านี้เอาไว้ สักวันหนึ่งเสียงต่างๆ เหล่านี้อาจจะสูญไปได้เช่นเดียวกัน 

(๑) หนังสือพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และรวมเรื่องเมืองสุโขทัย กรมศิลปากร
(๒) เลิกใช้เมื่อปีพระพุทธศักราช ๒๔๗๐ ต่อมาเกิดพจนานุกรมฉบับ ปีพระพุทธศักราช ๑๓๙๓ จึงได้ประกาศเลิกใช้อย่างเป็นทางการ
 









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น